หมวดที่ 1 บททั่วไป

ข้อที่ 1) สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมศิษย์เก่าสาธิตปทุมวัน” มีชื่อ ภาษาอังกฤษว่า“SATIT PATUMWAN ALUMNI” สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ที่โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน เครื่องหมายของสมาคมมีรูปลักษณะ ดังนี้
ข้อที่ 2) สมาคมจัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
  2.1 เพื่อแสดงความรำลึกถึงโรงเรียน
2.2 เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่า
2.3 เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่สมาชิก
2.4 ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนโรงเรียนในด้านกิจกรรมต่างๆ (โดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน)
2.5 เพื่อเชิดชูเกียรติคุณและชื่อเสียงของโรงเรียน
2.6 เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
2.7 เพื่อดำเนินการจัดตั้งสถานศึกษา ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นไม่เกี่ยวข้องการการเมือง


หมวดที่ 2 สมาชิกภาพ

ข้อ 3) สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ
1. สมาชิกสามัญ 2. สมาชิกสมทบ 3.สมาชิกกิตติมศักดิ์

คุณสมบัติของสมาชิกแต่ละประเภท มีดังนี้

(ก) สมาชิกสามัญ ต้องเป็นผู้ที่เคยเป็นนักเรียนหรือครู ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
(ข) สมาชิกสมทบ เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษา อยู่ใน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน
(ค) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีเกียรติยศชื่อเสียงหรือผู้มีอุปการะคุณ ซึ่งได้รับเชิญจากคณะ กรรมการสมาคม เพื่อเป็น เกียรติแก่สมาคม

ข้อ 4) ให้ผู้ประสงค์เป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบ ปฏิบัติดังนี้

4.1) ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคม เพื่อรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการสมาคม
4.2) ยื่นชำระเงินค่าสมัครและค่าบำรุง
- สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ เสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงตลอดชีพ 300 บาท
- สมาชิกสมทบ เมื่อพ้นสภาพจากการเป็นนักเรียนโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวันให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญ สมาคมศิษย์เก่าสาธิตปทุมวัน
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ยกเว้นค่าธรรมเนียม เมื่อเลขานุการรับใบสมัครแล้วให้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการ หากเห็นสมควรให้รับเป็นสมาชิก ให้ประกาศรายชื่อของผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคม และให้เลขานุการมีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครทราบ ทั้งที่รับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกให้ผู้สมัครได้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อใดผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกแล้ว ให้นายทะเบียนสมาคมจัดการลงชื่อขึ้นทะเบียนไว้และ ให้ถือวันเข้าสู่สมาชิกภาพตั้งแต่วันที่กรรมการลงมติรับ

ข้อ 5) สมาชิกจะขาดจากการเป็นสมาชิกของสมาคม เมื่อ

5.1) ตาย
5.2) ลาออก สมาชิกจะลาออกได้โดยการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการสมาคม
5.3) ถูกถอนชื่อจากทะเบียน โดยมติของคณะกรรมการสมาคม เมื่อปรากฏว่าเข้าข้อใดต่อไปนี้
- ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
- ทำตนให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของสมาคม
- ละเมิดข้อบังคับของสมาคมโดยเจตนา
- ต้องคำพิพากษาของศาลให้เป็นบุคคลสาบสูญ หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ต้องคำพิพากษาของศาลให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ผู้ที่ถูกถอนชื่อจากทะเบียน จะสมัครเป็น หากได้รับอนุมัติจากเสียงข้างมากของที่ประชุมใหญ่

ข้อ 6) สมาชิกของสมาคมมีสิทธิและหน้าที่ดังนี้

6.1) มีสิทธิประดับเข็มเครื่องหมายของสมาคมตามระเบียบ ซึ่งสมาคมได้กำหนดไว้
6.2) มีสิทธิใช้สถานที่ของสมาคม ตามระเบียบข้อบังคับที่สมาคมได้กำหนดไว้
6.3) มีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ ในการประชุมสามัญประจำปี และในการประชุมวิสามัญของสมาคม โดยสมาชิกมีสิทธิที่จะ ออกเสียงลงคะแนนได้เฉพาะสมาชิกสามัญเท่านั้น
6.4) สมาชิกสามัญมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการของสมาคม
6.5) มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามที่สมาคมสามารถจะอำนวยให้ภายในขอบเขตของวัตถุประสงค์และระเบียบข้อบังคับ
6.6) มีสิทธิเสนอความคิดเห็น ไต่ถาม หรือขอดูหลักฐานบัญชีต่างๆ ของ สมาคมได้โดยทำเป็นหนังสือต่อเลขานุการ
6.7) สมาชิกมีหน้าที่ ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม ช่วยเหลือกิจการของสมาคม และกระทำตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

หมวดที่ 3 การบริหารสมาคม

ข้อ 7) การบริหารของสมาคม ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสมาคม

ข้อ 8) คณะกรรมการสมาคมทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม จำนวนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 คนดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ (จำนวนนี้ไม่รวมถึงผู้แทนรุ่นต่างๆ)

8.1 นายกสมาคม
8.2 อุปนายกสมาคม
8.3 เลขาธิการ
8.4 เลขานุการ
8.5 เหรัญญิก
8.6 นายทะเบียน
8.7 สาราณียกร
8.8 ปฏิคม
8.9 ประชาสัมพันธ์
8.10 ประธานฝ่ายต่างๆ
8.11 กรรมการกลาง

ข้อ 9) กรรมการสมาคมทุกตำแหน่ง ให้เลือกหรือแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญ

ข้อ 10) นายกสมาคมมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของสมาชิก ทุกคราวที่จำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งนายกสมาคม ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเลือกตั้งขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมาชิกสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน เป็นอนุกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดวิธีการรายละเอียด และดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อย คณะอนุกรรมการ ดำเนินการเลือกตั้ง อาจจัดให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคม ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคม หรือจัดให้มี การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หรือโดยวิธีอื่นใดก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร ทั้งนี้โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการสมาคม

ข้อ 11) นายกสมาคมที่ได้รับเลือกตั้ง เข้ารับตำแหน่งภายในเดือนธันวาคมของปีที่มีการเลือกตั้ง

ข้อ 12) ให้นายกสมาคมเป็นผู้เลือก และแต่งตั้งกรรมการอื่นๆ ภายในกำหนด30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตำแหน่ง

ข้อ 13) นายกสมาคมดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากนายกสมาคม ย่อมมีวาระเช่นเดียวกัน กับนายกสมาคมที่แต่งตั้งตนเป็นกรรมการ

ข้อ 14) ถ้ากรรมการตำแหน่งใดว่าง โดยยังไม่ถึงคราวที่จะออกตามวาระ ให้นายกฯเลือกตั้งสมาชิกสามัญเข้าแทนได้ และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 15) กรรมการสมาคมย่อมขาดจากตำแหน่งโดย

15.1 ครบกำหนดตามวาระ
15.2 ลาออก
15.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
15.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออก โดยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ สมาชิกที่มาประชุม

ข้อ 16) ในกรณีที่นายกสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้กรรมการสมาคมชุดเดิมบริหารงานไปพลางก่อน โดยให้เลขาธิการ เป็นผู้รักษาการแทนนายกสมาคม และจะต้องดำเนินการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ ภายใน 60 วัน

ข้อ 17) อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสมาคม มีดังนี้

17.1 โดยปกติให้คณะกรรมการสมาคมประชุมปรึกษาหารือกิจการสมาคมอย่างน้อย สองเดือนต่อครั้ง
17.2 ในกรณีพิเศษ นายกสมาคมอาจเรียกประชุมคณะกรรมการสมาคมได้เป็นครั้งคราว กรรมการสมาคมต้องมาประชุม 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ และไม่น้อยกว่า 12 คน จึงจะนับเป็นองค์ประชุม
17.3 มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 18) คณะกรรมการสมาคมมีอำนาจ

18.1 ตราระเบียบเพื่อดำเนินกิจการของสมาคมให้มีความเจริญมั่งคง
18.2 แต่งตั้งกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมเป็นอนุกรรมการ เพื่อดำเนินกิจการพิเศษบางอย่างของสมาคม ตามความเหมาะสม เช่น งานด้านวิชาการ , วิเทศสัมพันธ์ , งานด้านสวัสดิการ เป็นต้น
18.3 ทำนิติกรรมผูกพันสมาคมหรือสั่งจ่ายเงินของสมาคมเพื่อดำเนินกิจการได้ตามอำนาจ ซึ่งจะได้ตราระเบียบกำหนดขึ้นไว้
18.4 เชิญผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการที่ปรึกษาหรือเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ หรือเข้าช่วยในคณะอนุกรรมการ
18.5 คณะกรรมการมีอำนาจสั่งการและจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของสมาคมไว้ เท่าที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย แพ่งพาณิชย์

ข้อ 19) เหรัญญิกมีหน้าที่ทำบัญชีรับจ่าย งบเดือน ทุกเดือน และบัญชีงบดุลประจำปี เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ สมาคมรับทราบ และให้ประกาศไว้ ณ สำนักงาน

ข้อ 20) บัญชีงบเดือนและงบดุล ต้องมีรายการย่อแสดงจำนวนทรัพย์สิน และหนี้สินของสมาคม

ข้อ 21) คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการจดบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการลงไว้เป็นหลักฐานทุกครั้งให้เก็บรักษา สมุดบันทึกนี้ไว้ ณ สำนักงานของสมาคม และสมาชิกมีสิทธิจะเรียกร้องขอต่อคณะกรรมการสมาคมตรวจดูบันทึกการประชุมได้

ข้อ 22) ให้มีผู้ตรวจสอบบัญชี ทำการตรวจสอบบัญชีรับจ่าย และรับรองงบดุลประจำปีของสมาคม ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องไม่เป็นกรรมการ สมาคม หรือ ลูกจ้างของสมาคม ผู้ตรวจสอบบัญชีมีสิทธิตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเงินและการบัญชีของสมาคม ถ้า เอกสารหลักฐานดังกล่าวไม่ชัดแจ้ง จะสอบถามลูกจ้างของสมาคม หรือกรรมการสมาคมคนใดหรือทั้งคณะก็ได้ การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีให้กระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่

ข้อ 23) การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละครั้ง ภายในเดือน ธันวาคม เพื่อให้คณะกรรมการแถลง ผลการ ปฏิบัติงานที่ได้กระทำไปแล้วในรอบปี เพื่อหารือกิจการทั่วไปของสมาคมและเพื่อให้ สมาชิกเสนอความคิดเห็น หรือให้ที่ประชุม ใหญ่ออกเสียงเลือกตั้งนายกคนใหม่

ข้อ 24) คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ต้องระบุเวลา สถานที่ ระเบียบวาระประชุมและส่งล่วงหน้าก่อนวันประชุม 15 วัน

ข้อ 25) ในการประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกประชุมไม่น้อยกว่า 30 คน จึงจะนับเป็นองค์ประชุม ถ้าสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ให้มีการเรียกประชุมใหม่ภายในกำหนด 30 วัน ในการประชุมครั้งหลัง ให้ถือจำนวนสมาชิกที่มาประชุมในวันนั้นไม่น้อยกว่า 20 คน ก็เป็นองค์ประชุมได้

ข้อ 26) การประชุมใหญ่วิสามัญควรจัดให้มีขึ้นได้เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร หรือเมื่อมีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป เรียกร้องให้มีขึ้น โดยแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขานุการ ในการประชุมวิสามัญนี้จะต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 30 ที่ประชุมจึงลงมติโดยเสียงข้างมากได้

ข้อ 27) ให้นายกฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมใหญ่ และให้เลขานุการทำหน้าที่จดบันทึกรายงานการประชุม

ข้อ 28) ให้เลขานุการรวบรวมรายงานการประชุม และขอมติของที่ประชุมทุกครั้งไว้เป็นหลักฐานรายงานเหล่านี้ เมื่อประธานได้เซ็นชื่อรับรองแล้ว ให้ถือเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง และให้ถือว่าการลงมติและการดำเนินงานของที่ประชุมตามรายงานนั้นเป็นไปโดยชอบ

ข้อ 29) ให้คณะกรรมการสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบในการเงินและทรัพย์สิน ของสมาคมตามกฎหมายใบสำคัญจ่ายเงินแต่และครั้ง นายก สมาคมหรือผู้ได้รับมอบหมาย และเหรัญญิกต้องเซ็นรับรองกำกับไว้

ข้อ 30) เงินของสมาคมต้องนำไปฝากธนาคารที่เชื่อถือได้ ซึ่งคณะกรรมการสมาคมเห็นชอบ

ข้อ 31) เหรัญญิกรักษาเงินสดไว้ไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าเกินจากนั้นต้องนำไปฝากธนาคาร

ข้อ 32) การสั่งจ่ายเงินของสมาคมจากธนาคาร ต้องมีลายมือของนายกร่วมกับเหรัญญิกเป็นผู้ลงนามสั่งจ่าย

หมวดที่ 4 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ

ข้อ 33) การแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนี้ อาจทำได้โดยมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และต้องได้รับการเห็นชอบด้วยคะแนน คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงที่มาประชุมข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น จะมีผลใช้บังคับเมื่อได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว

หมวดที่ 5 การเลิกสมาคม

ข้อ 34) การเลิกสมาคมให้กระทำได้โดยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 35) ให้ผู้ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมเป็นผู้ลงมติเลือกผู้ชำระบัญชี การชำระบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมาย

ข้อ 36) ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลือจากการชำระบัญชีมีอยู่เท่าใด มอบให้เป็นสมบัติของ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน

 

   
Copyright © 2006 Satit Patumwan Alumni
Allright Reserved

Developed by MMM-Digital Asset
Designed by CaptusCom